เรียนต่อมหาลัยไหนดี? น้อง ๆ ที่กำลังจะจบม.6 หรือจบแล้ว มีคำถามนี้กับตัวเองอยู่หรือเปล่า เป็นเรื่องธรรมดาที่การเลือกมหาวิทยาลัยจะทำให้น้องๆ ต้องคิดหนักอยู่ไม่น้อย ด้วยตัวเลือกของคณะ และมหาวิทยาลัยที่มีนับไม่ถ้วน ซึ่งในแต่ละมหาวิทยาลัยยังมีหลักสูตร วิชาเรียน ค่าใช้จ่าย และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน วันนี้ Enconcept จึงนำเทคนิคดีๆ มาฝาก ตั้งแต่การประเมินตัวเอง ไปจนถึงข้อมูลเบื้องต้นของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ ในการเตรียมตัว และวางแผนตัดสินใจเลือกเข้ามหาลัยที่เหมาะสมกับน้อง ๆ มากที่สุด
1. รู้จักตัวเอง
การรู้จักตัวเองและวิชาที่ตัวเองถนัดมีผลในการตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดคณะที่เหมาะสมกับคุณสมบัติที่มี เพราะส่วนใหญ่แล้วเรามักทำคะแนนได้ดีในวิชาที่ตัวเองชอบ เพิ่มโอกาสที่จะได้รับเลือกจากมหาวิทยาลัยสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถพิจารณาวิชาเอกจากลักษณะนิสัยได้อีกด้วย เช่น คนที่ชอบเข้าสังคม อาจเหมาะกับสายมนุษยศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ เป็นต้น
2. ทำกิจกรรมเพื่อหาประสบการณ์
เรียนต่อไหนดี? สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจในว่าตัวเองชอบ หรือถนัดอะไร ในขณะที่เพื่อนๆ มีไอเดียคณะที่สนใจบ้างแล้ว การลองทำกิจกรรมต่างๆ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีที่ทำให้ได้ข้อมูล และความชัดเจนมากขึ้น กิจกรรมที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าชมรม การเป็นอาสาสมัคร การฝึกงาน หรือกิจกรรมเวิร์กช็อป จะช่วยให้น้องๆ ค้นหาตัวเองได้ นอกจากนี้ การทำกิจกรรมยังช่วยให้น้องๆ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ รู้จักสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น และยังนำประสบการณ์ไปใส่เรซูเม่สำหรับการสมัครงานในอนาคตได้อีกด้วย แต่น้องๆ ต้องไม่ลืมที่จะเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในการพัฒนาตัวเองกันนะ
3. สร้างแรงบันดาลใจ
บางครั้งการมีแรงบันดาลใจ อาจช่วยผลักดันให้เราทำอะไรหลายๆ อย่างออกมาได้ดี เมื่อเรามีความสนใจและความชอบในสิ่งนั้นจริง ๆ เราก็มักสนุกและเพลิดเพลินไปกับมัน นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้แรงบันดาลใจในการมุ่งมั่นหาความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องที่สนใจ รวมไปถึงการเรียน เช่น คนที่ชอบเกี่ยวกับตัวเลข คณิตศาสตร์ การคำนวณ อาจเหมาะกับคณะที่เกี่ยวกับสถิติ หรือบัญชี ดังนั้น การหาแรงบันดาลใจในการพิจารณาเลือกคณะตามความสนใจ จึงมีผลต่อความสุข ความสำเร็จ และการเลือกเรียนต่อมหาลัยไหนดีในอนาคตของน้อง ๆ ได้
4. หาข้อมูลของคณะและสาขา
ถ้าน้อง ๆ รู้จักตัวเองและกำหนดคณะเป้าหมายอย่างชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การดูรายละเอียดหลักสูตรและความแตกต่างของคณะในแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อให้ตรงกับความสนใจ เส้นทางอาชีพในอนาคต และความต้องการของตลาดแรงงานมากน้อยเพียงใด ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ น้อง ๆ ก็จะยิ่งมีความพร้อมในการตัดสินใจว่าจะเรียนต่อไหนดีในอนาคตมากขึ้นเท่านั้น
5. ร่วมกิจกรรม Open House
ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ การได้ลองไปเยี่ยมชมงาน Open House ของคณะและมหาวิทยาลัยที่ตัวเองสนใจ จะช่วยให้น้อง ๆ ได้เห็นภาพบรรยากาศ สภาพแวดล้อมรอบๆ มหาวิทยาลัย และได้สอบถามข้อสงสัยกับรุ่นพี่ที่กำลังเรียนอยู่ อีกทั้งยังได้สร้างคอนเน็กชันกับพี่ๆ และเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ที่ต้องการเข้าเรียนในคณะเดียวกัน นอกจากนี้ งาน Open House ยังเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาพบปะกับคณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่ เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรของคณะและมหาวิทยาลัย ตลอดจนเงื่อนไขในการรับเข้าศึกษา และทุนการศึกษาอีกด้วย
6. มองไปถึงอนาคต
การเลือกคณะที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ชอบ ควรคำนึงถึงหลักสูตรวิชาเรียน รวมไปจนถึงเส้นทางอาชีพว่าหากเรียนในคณะที่เลือกแล้ว น้อง ๆ สามารถต่อยอดทักษะอย่างไรได้บ้างภายหลังเรียนจบ หรือมีอาชีพใดบ้างที่รองรับ รวมทั้งปริมาณอาชีพตรงสายที่รองรับในตลาดแรงงาน เพราะฉะนั้นน้อง ๆ ควรมองการณ์ไกลถึงอาชีพในอนาคต และเลือกหลักสูตรอย่างรอบคอบ
7. เลือกมหาวิทยาลัย คณะ และสาขาที่เป็นตัวเรา
เรียนต่อมหาลัยไหนดี? หลังจากที่ได้วางแผน และศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะ สาขาวิชาที่ต้องการอย่างถี่ถ้วนแล้ว อย่าลืมพิจารณาชื่อเสียง และจุดเด่นของคณะในแต่ละมหาวิทยาลัย มาดูกันดีกว่าว่ามีมหาวิทยาลัยน่าสนใจกันบ้าง
มหาวิทยาลัยที่นักเรียนอยากเข้ามากที่สุด 10 อันดับ
หลายคนใฝ่ฝันที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีชื่อเสียง ดึงดูดนักเรียนที่กำลังเตรียมตัวเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดย 10 อันดับมหาวิทยาลัยที่นักเรียนต้องการเข้าเรียน ไม่เพียงแค่มีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ยังต้องมอบการศึกษาที่มีคุณภาพสูงรวมถึงโอกาสในการเติบโต และต่อยอดในการทำงานในอนาคต มหาวิทยาลัยเหล่านี้ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยบูรพา เรียนต่อไหนดีไปดูพร้อม ๆ กันเลย
1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มต้นกันด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติ และเป็นที่ยอมรับในด้านความเป็นเลิศทางด้านวิชาการมาอย่างยาวนาน ถือเป็นศูนย์รวมนักเรียนหัวกะทิทั่วทุกจังหวัดเลยก็ว่าได้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใจกลางเมือง เขตปทุมวัน จังหวัดกรุงเทพฯ การเดินทางสะดวกสบายมาได้หลายเส้นทาง และยังเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคณะที่เป็นจุดเด่นหลากหลายสาขาวิชา เช่น คณะอักษรศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ แพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์
2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ต่อมา คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นชื่อได้ว่ามีชื่อเสียงเก่าแก่ในสาขาวิชาด้านกฎหมาย การเมือง และการปกครอง ตั้งอยู่ที่ท่าพระจันทร์ จังหวัดกรุงเทพฯ รังสิต จังหวัดปทุมธานี และศูนย์จังหวัดลำปาง นอกจากมาตรฐานการจัดการศึกษาระดับสากลสอดรับกับประชาคมอาเซียนแล้ว ราคาค่าเทอมที่ไม่แพงสำหรับภาคปกติ และทุนการศึกษาต่าง ๆ ทำให้ใครต่อหลายคนเลือกที่จะเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์
3. มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจเรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดี เนื่องจากมหาวิทยาลัยไทยที่เน้นด้านการแพทย์และเทคโนโลยีแห่งนี้ ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และอยู่ในอันดับที่ 30 ของเอเชีย ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของประเทศไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีผลงานวิชาการมากมาย มหาวิทยาลัยมีเนื้อที่กว้างขวาง วิทยาเขตหลักตั้งอยู่ที่จังหวัด นครปฐม ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ขยายวิทยาเขตไปยังจังหวัดกาญจนบุรี นครสวรรค์ และอำนาจเจริญอีกด้วย
4. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่เพียงแต่มีชื่อเสียงเป็นเลิศทางด้านการเกษตรสมัยใหม่เท่านั้น แต่ยังมีชื่อเสียงในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ด้วยสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ร่มรื่น สมกับเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว มีวิทยาเขตหลากหลาย โดยวิทยาเขตหลักตั้งอยู่ที่ เขตจตุจักร จังหวัดกรุงเทพฯ และอีก 4 วิทยาเขตในจังหวัดต่าง ๆ เช่น นครปฐม สกลนคร ชลบุรี และสุพรรณบุรี โดยคณะที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ คณะบริหารธุรกิจ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
5. มหาวิทยาลัยศิลปากร
หากพูดถึง มหาวิทยาลัยศิลปากร น้อง ๆ คงจะต้องนึกถึงศิลปะ ใช่แล้ว มหาวิทยาลัยศิลปากรรู้จักกันในฐานะสถาบันศูนย์กลางด้านศิลปะไทยประจำจังหวัดนครปฐม แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะมีชื่อเสียงในด้านโปรแกรมศิลปะ การออกแบบ สถาปัตยกรรม โบราณคดี และดนตรี จนได้รับการยอมรับว่าเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติ” แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นเลิศในสาขาอื่นๆ เช่นเดียวกัน หากน้อง ๆ คนไหนยังไม่รู้ว่าจะเรียนต่อมหาลัยไหนดี มหาวิทยาลัยศิลปากรถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจมากๆ
6. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
น้อยคนนักที่จะรู้ว่า มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือ มศว ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยใน พ.ศ. 2492 หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล ปลัดกระทรวงการศึกษาธิการได้แต่งตั้งเป็น โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ในสมัยนั้น ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันถึง 2 แห่ง คือ มศว ประสานมิตร จังหวัดกรุงเทพฯ และ มศว องครักษ์ จังหวัดนครนายก สำหรับวิทยาเขตกรุงเทพฯ ถือว่าการเดินทางไปมหาวิทยาลัยนั้นค่อนข้างสะดวกเลยทีเดียว เนื่องจากอยู่ใกล้ทั้งรถไฟฟ้า BTS และ MRT บริเวณรอบข้างรายล้อมไปด้วยออฟฟิศ และห้างสรรพสินค้า โดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม ที่ถือว่าเป็นคณะยอดนิยมและการแข่งขันสูงเป็นอันต้น ๆ ของประเทศ
7. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นทั้งมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งแรกของภาคเหนือ ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยบรรยากาศธรรมชาติ อากาศที่ดี พร้อมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ดังนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงถูกจัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับอุดมศึกษาของภาคเหนือ เหมาะแก่การเล่าเรียนและอยู่อาศัย โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีคณะพยาบาลศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และคณะสื่อสารมวลชน ที่เรียกได้ว่าเป็นคณะที่ฮอตฮิตสุด ๆ
8. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือเรียกกันอีกชื่อว่า มอดินแดง ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีพื้นที่กว้างขวางมากกว่า 5,800 ไร่ ประกอบไปด้วยจำนวนนักศึกษามากกว่า 38,000 คน นักศึกษาส่วนใหญ่จึงนิยมใช้รถจักรยาน และมอเตอร์ไซค์ในการเดินทาง นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังมักจัดงานตามประเพณี และกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์อยู่เสมอ หากใครเป็นเด็กกิจกรรม รับรองได้ว่าต้องถูกใจ อยากเข้ามหาวิทยาลัยแห่งนี้อย่างแน่นอน
9. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เดิมที มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีชื่อเรียกว่า มหาวิทยาลัยภาคใต้ ประกอบด้วย 5 วิทยาเขต ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และตรัง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดสงขลานั่นเอง ซึ่งแต่ละวิทยาเขตจะมีการเรียนการสอนที่แตกต่างตามสภาพแวดล้อม จุดเด่นที่น่าสนใจ คือ เป็นอีกมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยผลงานวิชาการ และมีทุนให้แก่นักศึกษามากมายหลายรูปแบบ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย คณะดังของมหาวิทยาลัยสงขลา ได้แก่ คณะแพทย์ศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์
10. มหาวิทยาลัยบูรพา
มหาวิทยาลัยบูรพา ใช้เวลาเดินทางจากจังหวัดกรุงเทพฯ ประมาณ 2 ชั่วโมง ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี โดยในอดีตมหาวิทยาลัยบูรพาเคยเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นมหาวิทยาลัยภายใต้การกำกับของรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2551 ทำเลที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ อยู่ใกล้กับชายทะเล และไม่ห่างจากตัวเมืองมากนัก บริเวณรอบ ๆ มีตลาด และร้านอาหารให้เลือกสรรมากมาย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยบูรพายังมีชื่อเสียงด้านการแพทย์ พยาบาล สุขภาพ และโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงานในไทย และต่างประเทศ
8. ดูรายละเอียดและคุณสมบัติในการเปิดรับสมัคร
หลังจากที่เลือกคณะ และมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้แล้ว น้องๆ อย่าลืมศึกษารายละเอียดและคุณสมบัติของแต่ละคณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการสมัคร เพื่อช่วยให้เข้าใจเกณฑ์ในการคัดเลือก และวิเคราะห์ตัวเองได้ว่ามีคุณสมบัติตรงกับเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยที่ต้องการหรือไม่
9. ดูค่าเทอม
ค่าใช้จ่ายในการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากค่าเทอมแล้ว อาจมีค่ากิจกรรม หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นอกเหนือจากนี้ น้อง ๆ ควรปรึกษาผู้ปกครองเรื่องสภาพคล่องทางการเงินที่จำเป็นในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัย หากค่าเทอมค่อนข้างสูง น้อง ๆ สามารถหาเลือกทุนการศึกษา ซึ่งเป็นวิธีช่วยแก้ไขปัญหาได้ส่วนนึง โดยส่วนใหญ่ทุนการศึกษาจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษา โดยพิจารณาจากผลการเรียน ความต้องการ และฐานะทางการเงิน หรือเกณฑ์อื่น ๆ ดังนั้น การหาข้อมูลและสมัครขอรับทุนการศึกษา จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับน้อง ๆ ที่เผชิญกับข้อจำกัดทางการเงิน แต่มีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาต่อมหาลัยในฝัน
10. สภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย
สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยส่งผลต่อการเดินทาง ทำให้น้องๆ บางคนเลือกที่จะเรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน อีกทั้งสถานที่ที่สะดวกและเข้าถึงได้ง่าย ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม เนื่องจากช่วยให้เข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ทรัพยากร และกิจกรรมนอกหลักสูตรได้ง่าย แถมยังลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือเช่าหอพัก นอกจากนี้ ยังทำให้น้อง ๆ สามารถวางแผนการเดินทางและมั่นใจได้ว่าจะสามารถเข้าเรียนได้ตรงเวลา ดังนั้น จึงแนะนำให้น้อง ๆ ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ตั้ง และสภาพแวดล้อมโดยรอบ ก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ
11. เตรียมพร้อม อ่านหนังสือสอบ ทุ่มเทเพื่อคณะที่อยากเข้า
หากน้อง ๆ มั่นใจกับคณะที่ตัวเองไตร่ตรองมาดีแล้วว่าจะเรียนต่อมหาลัยไหนดี สิ่งสำคัญ คือ การวางแผนให้ชัดเจนเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างแน่วแน่ โดยเน้นการอ่านหนังสือ และฝึกฝนทำโจทย์ต่างๆ การทุ่มเทและตั้งใจฝึกฝนจะช่วยให้น้องๆ มีความมั่นใจ และเพิ่มโอกาสในการสอบติดมากขึ้น ดังนั้น การจัดสรรเวลา และความเพียรพยายามในการศึกษาเนื้อหาวิชาที่จะสอบ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประสบความสำเร็จ
สรุป
การตัดสินใจว่าจะเรียนต่อไหนดี เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาคิดทบทวนไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะต้องใช้หลากหลายปัจจัยในการพิจารณา เช่น ชื่อเสียงของคณะ และมหาวิทยาลัย คุณภาพของหลักสูตร สถานที่ สภาพแวดล้อม และค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการตรวจสอบให้แน่ใจว่าตัวเองมีคุณสมบัติเหมาะสมตามเกณฑ์ที่คณะต้องการหรือไม่ นั่นหมายถึงการสำรวจความถนัด และความสนใจของตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้น้องๆ เตรียมตัวและวางแผนให้ตัวเองได้อย่างเหมาะสมกับเป้าหมายที่วางไว้
อย่างไรก็ตาม การเตรียมตัวที่สำคัญที่สุด คือ การตั้งใจทบทวนบทเรียน และฝึกฝนการทำข้อสอบ เพื่อทำคะแนนสอบให้ได้มากที่สุด หากน้องๆ คนไหนที่ยังรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในทักษะภาษาอังกฤษ สามารถเรียนกับทาง Enconcept รับรองได้ว่าน้องๆ จะมีทักษะที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มั่นใจในการทำข้อสอบมากขึ้น เลือก Enconcept ความสำเร็จที่ทำได้จริง