
หลายครั้งที่ด่านของความสำเร็จถูกยับยั้งเอาไว้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ หากเป็นข้อจำกัดอันเป็นปัจจัยภายนอกอาจจะจัดการได้ยาก เนื่องจากบางเหตุหรือบางสถานการณ์ก็ต้องยอมรับว่ายากที่จะควบคุม แต่หากด่านของความสำเร็จถูกจำกัดด้วยปัจจัยจากตัวเราเอง เราจะสามารถเปลี่ยนมุมมองความคิดได้อย่างไร? ซึ่งบางครั้งการตั้งข้อจำกัดให้ตัวเองก็อาจจะทำให้เด็กๆ ยอมแพ้กับบางเรื่องได้ง่ายๆ หากเป็นเช่นนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรส่งแรงเชิงบวกเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติที่อาจขัดต่อการไปยังเป้าหมายของลูก
เราจึงหยิบยก 5 ข้อจำกัดที่มักได้ยินอยู่บ่อยๆ โดยมีคำแนะนำในการสร้างมุมมองที่ดีได้ด้วยครอบครัวและตัวเด็กเอง
“เวลาแค่ 24 ชั่วโมงมันไม่พอ!”
ก็เพราะเวลาไม่เคยพอสำหรับเด็กๆ เลย เพราะไหนจะเรียน ไหนจะกิจกรรม รวมการเรียนเสริม และอ่านหนังสือเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมาย ยิ่งเป็นวัยคว้าฝันที่ต้องมุ่งอ่านหนังสือหนัก เรียนหนัก จนไม่มีเวลาจะพักผ่อน แถมยังต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล เล่นเอาเด็กหลายคนยกธงขาวยอมแพ้ไปเสียก่อน ก็ต้องบอกให้เด็กๆ เข้าใจว่าเวลาคือเรื่องของการจัดสรร ลองชวนลูกจัดสรรเวลาอย่างมีคุณภาพ แบ่งเวลาให้ถูกให้ควรโดยอาจมีไกด์จากรุ่นพี่ หรือลองหาเทคนิคในการใช้ทรัพยากรเวลาอย่างคุ้มค่า เช่นฝึกท่องศัพท์ในช่วงเวลาการเดินทางวันละ 10 – 15 คำ เป็นต้น และที่สำคัญต้องไม่ลืมที่จะให้ลูกได้มีเวลาพักผ่อนและให้มีช่วงเวลาที่ได้ผ่อนคลาย เป็นการปลูกฝังให้เขาให้เวลากับตัวเองอย่างเพียงพอด้วยเช่นกัน
“อันนี้ไม่ถนัด ขอผ่านเลยแล้วกัน”
ยิ่งทางเลือกมีมากก็ทำให้เรามองข้ามบางเรื่องราว หรือบางวิชาที่เราไม่ถนัด โดยตัดชอยส์ทิ้งไปเสียดื้อๆ คุณพ่อคุณแม่ที่เห็นลูกมีแนวคิดประมาณนี้ก็อย่าเพิ่งคิดตำหนินะคะ ทางที่ดีควรนั่งคุยกันจริงๆ จังๆ ว่าเขามีเหตุผล หรือข้อจำกัดอะไรกับวิชาดังกล่าว แล้วลองหาทางออกร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น ลูกบ่นว่าไม่อยากเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เพราะไม่ชอบเรื่อง Tenses เอาเสียเลย อาจจะเป็นเพราะจำยาก หรือสร้างความสับสน คุณพ่อคุณแม่อาจจะช่วยหาเทคนิคการจำแบบง่ายๆ ให้กับลูก มากกว่านั้นคือการบอกลูกให้เข้าใจ ว่าไม่มีใครที่เกิดมาแล้วเก่งไปเสียทุกอย่างบางอย่างที่ไม่ถนัดบางครั้งก็เป็นบททดสอบ การทิ้งมันไว้ข้างหลังอาจทำให้เราพลาดโอกาสอะไรดีๆ ไปก็ได้
“ทำไม่ได้เพราะไม่มีใครไปเป็นเพื่อน”
อีกหนึ่งเหตุผลยอดฮิตของเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะเข้าใจ หรือบางท่านอาจจะไม่เข้าใจ แต่ก็อยากให้ลองทำความเข้าใจข้อจำกัดดังกล่าวและอย่าเพิ่งตัดสินว่าไร้สาระนะคะ บางอย่างหากถูกกดดันให้ก้าวไปเผชิญเพียงลำพังก็อาจไม่ใช่เรื่องดีนัก หากแต่การโน้มน้าวแทนการกดดัน เสริมเหตุผลว่าการกล้าออกไปเผชิญอย่างเด็ดเดี่ยวคือการพิสูจน์ความตั้งใจของตัวเองได้อย่างดี ขอเพียงเรารวบรวมความกล้า เปิดใจพร้อมรับอะไรใหม่ๆ ย่อมเป็นหนทางก้าวแรกสู่การประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน และความเด็ดเดี่ยวนี้ควรได้มาจากการปลูกฝังโดยครอบครัว อย่าลืมที่จะเริ่มให้ลูกเลือกสิ่งที่อยากทำแล้วเผชิญกับมันด้วยตัวเอง ให้เค้าได้เรียนรู้และเติบโตบนเส้นทางที่มีคุณพ่อคุณแม่คอยเฝ้ามองอยู่เพียงห่างๆ เด็กในครอบครัวที่ถูกกล่อมเกลามาในลักษณะนี้ส่วนมากจะมีความเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจเองได้อย่างรอบครอบโดยไม่ต้องรีรอใคร
“เกลียดการเริ่มต้น”
เพราะบางครั้งการเริ่มต้นดันยากกว่าระหว่างทางเสียอีก เราจึงรีรอที่จะเริ่ม จนไม่ได้เริ่มเสียที ดังนั้นจึงอาจต้องอาศัยแรงส่งจากพ่อแม่ผู้ปกครองเสียหน่อย อย่างเช่นการให้ลูกได้ตั้งเป้าหมาย โดยอาจจะเริ่มที่เป้าหมายที่วัดผลได้ในระยะสั้นๆ ให้ลูกได้มีแนวคิดที่ดีกับการเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างเพื่อตนเองเสียก่อน อาจเป็นการตั้งหลัก Objective & Key Results (OKR) ซึ่งเป็นหลักการตั้งเป้าหมายพร้อมกับตั้งผลลัพธ์ที่สามารถวัดผลได้ โดยในหนึ่ง Objective อาจมีได้หลาย Results ลองชักชวนลูกวาด Mapping แบบง่ายๆ คอยติดตามช่วยเหลืออยู่ห่างๆ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการปลูกฝังให้ลูกได้ตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นและไม่ย่อท้อในการมานะบากบั่นให้เข้าใกล้ความสำเร็จในภายภาคหน้า
“อยากอยู่ใน Safe Zone”
มีเซฟโซนอยู่แล้ว จะไปทำอะไรยากๆ ให้ลำบากทำไม – แนวคิดแบบนี้มักกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสใหม่ๆ ที่เข้ามาในชีวิต อาจะต้องอาศัยการโน้มน้าวและทำให้เห็นว่าสิ่งที่เราปฏิบัติอยู่ทุกวัน หรือบางอย่างที่เราได้มันมาอย่างง่ายดาย อาจจะมีคุณค่าทางจิตใจสู้สิ่งที่เรากล้ากระโดดออกจาก Safe zone ออกไปคว้ามันเองไม่ได้ เด็กหลายคนพลาดโอกาสเพราะการไม่กล้าตัดสินใจทั้งที่ยังมีเรื่องราวอีกมากมายให้ได้เรียนรู้ ดังนั้นการตั้งข้อจำกัดให้อย่างการสร้างกำแพงที่ปิดกั้นตัวเองเอาไว้อยู่ในเซฟโซนอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเสมอไป ให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะคิดและตัดสินใจผ่านการปลูกฝังให้กล้าหาญโดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยซัพพอร์ตทุกความผิดพลาดที่อาจจะเกินขึ้น